แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์

2. ชนชั้นกรรมาชีพกับชาวพรรคคอมมิวนิสต์

ชาวพรรคคอมมิวนิสต์มีความเกี่ยวข้องกับกรรมาชีพอย่างไร ?

ชาวพรรคคอมมิวนิสต์มีผลประโยชน์ร่วมกับชนชั้นกรรมาชีพทั้งหมด ไม่ใช่กลุ่มที่หาผลประโยชน์เพื่อส่วนตัว หรือเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวชนชั้นกรรมาชีพ

พรรคคอมมิวนิสต์แตกต่างกับพรรคการเมืองชนชั้นกรรมาชีพอื่น ๆ 2 ประการ คือ

๖. ในการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพประเทศต่างๆชาวพรรคคอมมิวนิสต์เน้นและมีจุดยืนต่อผลประโยชน์ร่วมของชนชั้นกรรมาชีพทั้งชนชั้นโดยไม่แบ่งแยกชนชาติ

๗. ในพัฒนาการการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชนชั้นกรรมาชีพกับชนชั้นนายทุนชาวพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของขบวนการปฏิวัติทั้งขบวนการ

ดังนั้นในการปฏิวัติ ชาวพรรคคอมมิวนิสต์จึงก้าวหน้าที่สุดในการผลักดันการเคลื่อนไหว ในบรรดาพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพในประเทศต่างๆ และในด้านทฤษฎีพวกเขาเป็นส่วนที่ก้าวหน้าของชนชั้นกรรมาชีพอื่นๆเนื่องจากเข้าใจเงื่อนไขสถานการณ์ในการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ

เป้าหมายระยะสั้นของชาวพรรคคอมมิวนิสต์ และพรรคการเมืองชนชั้นกรรมาชีพอื่นๆ คือ ต้องสร้างชนชั้นกรรมาชีพให้รวมตัวกันป็นชนชั้นที่โค่นล้มการปกครองของชนชั้นนายทุน และ ยึดอำนาจรัฐมาเป็นของชนชั้นกรรมาชีพ

ส่วนเรื่องทฤษฎี ชาวพรรคคอมมิวนิสต์จะไม่ยึดติดหลักการของนักปฏิรูปคนใดคนหนึ่งหรือผูกขาดโดยสำนักใดสำนักหนึ่ง

ทำไมจึงต้องทำลายระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล?

ที่กล่าวมาคือหลักทั่วไปของความสัมพันธ์อันแท้จริงในการต่อสู้ทางชนชั้นที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น ไม่ได้มีเพียงลัทธิคอมมิวนิสต์แนวคิดเดียวเท่านั้นที่เสนอให้มีการทำลายความสัมพันธ์ของระบอบกรรมสิทธิ์ ความเป็นเจ้าของที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะความสัมพันธ์ในระบอบกรรมสิทธิ์ในอดีตได้มีการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์เรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง

เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศสได้ยกเลิกระบอบกรรมสิทธิ์ขุนนาง ที่เดิมพวกขุนนางเคยถือครองที่ดิน ทรัพย์สมบัติต่างๆ มาเป็นระบอบกรรมสิทธิ์ชนชั้นนายทุนที่บรรดานายทุนเข้าครอบครองเป็นเจ้าของแทน

ลักษณะพิเศษของลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ใช่จะเลิกล้มระบอบกรรมสิทธิ์ของทุกคนทั่วไป แต่จะเลิกล้มระบอบกรรมสิทธิ์ชนชั้นนายทุนเท่านั้น

แต่ระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลของชนชั้นนายทุนสมัยใหม่เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนที่สุดของการผลิตและการถือครองกรรมสิทธิ์ในสินค้าซึ่งตั้งอยู่บนความขัดแย้งทางชนชั้น นั่นคือการขูดรีดที่คนส่วนน้อยกระทำต่อคนส่วนใหญ่

ดังนั้น ชาวพรรคคอมมิวนิสต์จึงมีข้อสรุปทฤษฎีเป็นประโยคสั้นๆ ว่าต้อง “ ทำลายระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ”

มีการตอบโต้ชาวพรรคคอมมิวนิสต์ว่าคิดทำลายทรัพย์สินที่เอกชนหามาได้ด้วยการใช้แรงงานของตนเอง จะทำลายทรัพย์สินที่อ้างว่าหามาได้ด้วยเสรีภาพ และอิสรภาพทั้งปวงของเอกชน

ทรัพย์สินของนายทุนน้อย และ ชาวนาขนาดย่อม ก่อนมาเป็นระบอบกรรมสิทธิ์ชนชั้นนายทุน ได้ถูกทำลายอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ด้วยสาเหตุจากการพัฒนาของอุตสาหกรรม

มีความขัดแย้งสองด้านคือ การใช้แรงงานของชนชั้นกรรมาชีพไม่ได้สร้างทรัพย์สินให้กับเขา แต่แรงงานสร้าง ทุน ทุนในที่นี้หมายถึงทรัพย์สินที่ขูดรีดแรงงานรับจ้าง การสะสมทุนจะเกิดขึ้นได้จากการที่มีแรงงานรับจ้างรุ่นใหม่เข้าสู่การขูดรีดอยู่ตลอดเวลา เพราะทรัพย์สินในรูปแบบปัจจุบันนี้แสดงถึงความขัดแย้งระหว่างทุนกับแรงงานรับจ้าง เราควรพิจารณาความขัดแย้งทั้งสองด้านดังนี้

นายทุน การเป็นนายทุนคนหนึ่งนั้นหมายความว่า ในการผลิตนั้นเขาคือภาคเอกชนที่มีฐานะทางสังคม ทุนเป็นผลิตผลของส่วนรวมที่ต้องผ่านการใช้แรงงานของสมาชิกทั้งหมดของสังคมเท่านั้นจึงจะถูกนำมาใช้ได้

เพราะฉะนั้นตัวทุนเองจึงไม่ใช่พลังของนายทุนเอกชน แต่เป็นพลังขับเคลื่อนอย่างหนึ่งของสังคมทั้งสังคม

การเปลี่ยนทุนให้เป็นทรัพย์สินส่วนรวมของสมาชิกทั้งหมดในสังคม จึงไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนทรัพย์สินเอกชนให้เป็นทรัพย์สินของสังคม แต่เปลี่ยนแค่การถือครองทรัพย์สินเท่านั้น แล้วในที่สุดความเป็นชนชั้นก็จะหมดไป

แรงงานรับจ้าง ราคาเฉลี่ยของแรงงานรับจ้างคือ ค่าแรงขั้นต่ำที่สุด ซึ่งก็คือ ค่าครองชีพที่เพียงพอกับกรรมาชีพคนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ฉะนั้นการที่กรรมาชีพรับจ้างเป็นเจ้าของแรงงานของตนเอง แค่เพียงพอสำหรับประทังชีวิตไปวันๆ เพื่อทำการผลิตต่อไปเท่านั้น เราไม่ได้เสนอให้ยกเลิกผลตอบแทนจากการทำงานที่ได้จากผลิตผลของแรงงาน เพราะผลตอบแทนชนิดนี้จะไม่เหลือส่วนเกินมากพอที่จะทำให้คนส่วนน้อยเอาเปรียบแรงงานของคนส่วนใหญ่อย่างที่เป็นอยู่ แต่เราเสนอให้ทำลายความเลวร้ายของการถือกรรมสิทธิ์แบบนี้ เพราะมันทำให้ชนชั้นกรรมาชีพมีสภาพชีวิตเป็นแค่เครื่องมือสะสมทุน พวกเขาต้องทนมีชีวิตอยู่เพื่อสร้างทุนให้เพิ่มมากขึ้น และเขาจะมีชีวิตอยู่ได้ตราบเท่าที่ "ผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง " ต้องการให้เขามีชีวิตอยู่เท่านั้นเอง

ในสังคมทุนนิยม แรงงานที่มีชีวิตเป็นเพียงปัจจัยอย่างหนึ่ง ในการสะสมทุน ซึ่งต่างจากสังคมคอมมิวนิสต์อย่างสิ้นเชิงตรงที่แรงงานที่สะสมขึ้นแล้วจะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของกรรมชีพ

ในสังคมทุนนิยม อดีตครอบงำปัจจุบัน แต่

ในสังคมคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันครอบงำอดีต

หมายความว่าในสังคมทุนนิยมสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นในอดีต กลับกลายเป็นเจ้านายเหนือเรา แต่ในสังคมคอมมิวนิสต์ มนุษย์จะเป็นเจ้านายเหนือผลงานที่เราสร้างไว้ในอดีต

ในสังคมทุนนิยม ทุนมีอิสระ เสรีภาพและเป็นตัวของตัวเอง ขณะที่มนุษย์ส่วนใหญ่กลับไม่มีเสรีภาพและไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้

แต่ชนชั้นนายทุนก็พูดถูกที่ว่า การที่เราจะทำลายความสัมพันธ์ทางการผลิต เป็นการทำลายเอกลักษณ์และเสรีภาพ ! ในที่สุดแล้วสิ่งที่เราจะต้องทำลายคือ ความเป็นตัวของตัวเอง ความอิสระเสรีภาพของทุนนั่นเอง

ในระบบทุนนิยมเช่นปัจจุบันนี้ สิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพนั้นหมายถึง เสรีทางการค้า เสรีในการซื้อขายตามกลไกตลาด เป็นเสรีภาพของนายทุนนั่นเอง

เมื่อไหร่ที่ไม่มีการซื้อขายแล้ว แน่นอนว่าเมื่อนั้นการค้าเสรีก็จะหมดไปด้วย คำพูดลมๆ แล้งๆ ของนายทุนเกี่ยวกับการค้าเสรีไม่ต่างกับการอวดอ้างเกี่ยวกับเสรีภาพอื่นๆ ของพวกเขา เช่นเดียวกับเสรีภาพในการซื้อขายชาวเมืองที่ถูกทำให้เป็นทาสในสมัยกลาง

แต่คำอวดอ้างนั้นจะไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะแท้จริงลัทธิคอมมิวนิสต์ต้องการจะทำลายการซื้อขาย ทำลายความสัมพันธ์ทางการผลิตของชนชั้นนายทุน ตลอดจนตัวชนชั้นนายทุนเอง

แน่นอนชนชั้นนายทุนย่อมที่จะหาวิธีขัดขวางการทำลายกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลของเขา ในขณะที่ประชากร 90% ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนบุคคล ดังนั้นสิ่งที่ชนชั้นนายทุนกล่าวหา ก็คือ หาว่าชาวคอมมิวนิสต์ต้องการที่จะทำลายระบอบกรรมสิทธิ์แบบที่คนส่วนน้อยถือครอง ท่ามกลางคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีทรัพย์สิน

สรุปแล้ว ชาวคอมมิวนิสต์เสนอว่าต้องทำลายระบอบกรรมสิทธิ์ของชนชั้นนายทุน!!!

ชนชั้นนายทุนอธิบายว่า แรงงานไม่สามารถจะเปลี่ยนเป็นทุน เปลี่ยนเป็นเงินตรา หรือเปลี่ยนเป็นค่าเช่าที่ดินได้ นั่นคือไม่สามารถจะเปลี่ยนเป็นพลังสังคมที่ทำการผูกขาดได้นั่นเอง พูดง่ายๆได้ว่าเมื่อใดที่ทรัพย์สินเอกชนไม่สามารถจะเปลี่ยนเป็นทุนได้อีก เอกลักษณ์ส่วนบุคคลก็ถูกทำลายไปเมื่อนั้น

จากนี้จะเห็นได้ว่า ชนชั้นนายทุนยอมรับว่าเอกลักษณ์ที่พวกเขาเข้าใจนั้น หมายถึง นายทุนผู้ถือกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล แน่นอนล่ะ เอกลักษณ์แบบนี้ต้องถูกทำลายให้หมด

ลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ได้ยกเลิกการถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลของคนใดคนหนึ่ง แต่จะยกเลิกอำนาจในการนำแรงงานคนไปเป็นทาส

มีผู้โต้แย้งว่าเมื่อใดที่ระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลถูกทำลายไป เมื่อนั้นการงานหรือกิจกรรมทุกอย่างก็จะยุติลง เพราะจะมีแต่คนขี้เกียจ ไม่กระตือรือร้นที่จะทำงานต่อไป

ดังนั้นถ้าเกิดความขี้เกียจจริงๆ สังคมทุนนิยมก็คงอยู่ไม่ได้ เพราะว่าในสังคมนี้ ผู้ที่ออกแรงทำงานไม่ได้รับสิ่งตอบแทน ส่วนผู้ที่ได้สิ่งตอบแทนนั้นกลับไม่ต้องทำงาน ข้อสงสัยทั้งหมดเหล่านี้สรุปได้เป็นคำที่ซ้ำความหมายเดียวกันคือ เมื่อใดที่ไม่มีทุน เมื่อนั้นก็จะไม่มีแรงงานรับจ้างอีกต่อไป ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับผู้ใช้แรงงานกรรมาชีพที่ถูกปล้นสะดมสิ่งตอบแทนไปเป็นของนายทุนที่ไม่เคยทำอะไรเลย ได้แต่กินแรงคนส่วนใหญ่

ความเห็นในเรื่องวัฒนธรรม การศึกษา และครอบครัว

ชนชั้นนายทุนคัดค้านทั้งรูปแบบกรรมสิทธิ์ในวิถีการผลิตแบบลัทธิคอมมิวนิสต์ และคัดค้านในเรื่องการถือกรรมสิทธิ์ในการผลิตทางความคิดหรือการครอบงำทางวัฒนธรรมความคิดด้วย

เหมือนกันกับการที่นายทุนมองว่าการทำลายระบอบกรรมสิทธิ์ของชนชั้น ก็คือ การทำลายพลังการผลิต และนายทุนมองว่าการทำลายวัฒนธรรมแบบชนชั้นนายทุน คือ การทำลายการศึกษาทั้งปวง

“วัฒนธรรม” ชนิดที่พวกนายทุนกลัวว่าจะหมดสิ้นไปนั้น แท้จริงแล้วมันหมายถึงการฝึกอบรมสั่งสอนคนส่วนใหญ่ให้กลายเป็นเครื่องจักรเครื่องกลให้นายทุนใช้เป็นเครื่องมือเท่านั้น

ถ้าจะใช้มาตรฐานความคิดของชนชั้นนายทุนเกี่ยวกับเสรีภาพ การศึกษา กฎหมาย ฯลฯ มาประเมินความคิดของชาวพรรคคอมมิวนิสต์ที่จะเลิกล้มระบอบกรรมสิทธิ์ชนชั้นนายทุนแล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องถกเถียงกันอีก เพราะความคิดของพวกนายทุนเองนั่นแหละที่เป็นผลจากความสัมพันธ์ทางการผลิตกับความสัมพันธ์ของระบอบกรรมสิทธิ์ของชนชั้นนายทุน เหมือนหลักนิติศาสตร์ของชนชั้นนายทุนที่เป็นแค่ความต้องการจะทำให้ผลประโยชน์ของนายทุนเป็นสิ่งถูกกฎหมาย โดยกฎหมายเหล่านี้ล้วนสนองความต้องการในการดำรงชีวิตแบบชนชั้นนายทุนเท่านั้น

ความเห็นแก่ตัวของชนชั้นนายทุนทำให้พวกเขาสร้างกระแสความคิดที่ว่า ความสัมพันธ์ทางการผลิตและความสัมพันธ์ของระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ที่เกิดและดับไปในยุคหนึ่งๆนั้นจะกลายเป็นกฎธรรมชาติที่ต้องดำรงคงอยู่อย่างถาวรตลอดไปไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

น่าแปลกที่ชนชั้นนายทุนเคยปฏิเสธระบอบกรรมสิทธิ์ขุนนาง และเปลี่ยนแปลงมันได้ แต่พอกล่าวถึงระบอบกรรมสิทธิ์ที่เขาถือครองอยู่เมื่อไหร่ ชนชั้นนายทุนกลับทำเป็นไม่เข้าใจและไม่ยอมรับความจริง นั่นคือเขาเลือกที่จะทำความเข้าใจหรือยอมรับโดยถือผลประโยขน์ของชนชั้นตนเป็นหลัก

เมื่อกล่าวถึงครอบครัวยุคปัจจุบัน ครอบครัวของชนชั้นนายทุนตั้งอยู่บนรากฐานของทุนและความร่ำรวยส่วนบุคคล มีแต่ครอบครัวชนชั้นนายทุนที่ร่ำรวย ขณะที่ชนกรรมาชีพถูกบีบบังคับให้ครองตัวเป็นโสดและค้าประเวณีอย่างเปิดเผย

เรามองว่า ครอบครัวของนายทุนหรือครอบครัวชนชั้นกรรมาชีพในสังคมแบบนี้จะดำรงอยู่ไม่ได้ ต้องบ้านแตกสาแหรกขาดเมื่อไม่มีทุน

ชาวพรรคคอมมิวนิสต์ต้องการยกเลิกการที่พ่อแม่กดขี่ขูดรีดลูกที่เกิดมา อย่างการชายลูกชายไปเป็นทาสแรงงาน หรือขายลูกสาวไปเป็นโสเพณี กระทั่งพร่ำสอนลูกให้บูชาเงินตราว่าเป็นพระเจ้า บางครอบครัวเลือกที่จะรักลูกที่มีรายได้มากกว่าลูกที่ขากรายได้ ความสัมพันธ์ในครอบครัวเช่นนี้จึงถูกกำหนดด้วยเงินตรา

ชนชั้นนายทุนอธิบายว่า ถ้าเปลี่ยนการให้การศึกษาอมรมบ่มเพาะโดยครอบครัว มาเป็นการให้ศึกษาอบรมโดยสังคมแทน จะเป็นการทำลายความสัมพันธ์อันอบอุ่นแน่นแฟ้นในครอบครัว

แต่การศึกษาในปัจจุบันนั้นแท้จริงถูกกำหนดโดยสังคมเข้าแทรกแซงไม่ทางตรงก็ทางอ้อมโดยผ่านทางโรงเรียน และสื่อรอบตัว ด้วยวิธีการต่างๆอยู่แล้ว ไม่มีการศึกษาอบรมโดยครอบครัวโดดๆอย่างที่นายทุนกล่าวอ้าง

จริงๆแล้วชาวพรรคคอมมิวนิสต์มิได้เป็นผู้คิดจะเปลี่ยนให้สังคมมีอิทธิพลต่อการศึกษา แต่เรากำลังเสนอว่าการศึกษาไม่ควรตกอยู่ในอิทธิพลของชนชั้นปกครองนายทุน

การพัฒนาของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวลดน้อยลง ลูกๆ ของกรรมาชีพถูกขายแรงงาน ยิ่งการใช้แรงงานล้วนๆอันเนื่องมาจากการพัฒนาของอุตสาหกรรม มากขึ้นเท่าไหร่ คำพูดโกหกของชนชั้นนายทุนเกี่ยวกับความรักความอบอุ่นในครอบครัว และให้การศึกษาก็ยิ่งน่ารังเกียจมากขึ้นเท่านั้น

ชาวคอมมิวนิสต์เสนอว่า ควรเอาเมียเป็นของกลางจริงหรือ?

เรื่องนี้ถูกชนชั้นนายทุนวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก...

อันที่จริงพวกนายทุนใช้เมียของตนเป็นเครื่องมือการผลิตเป็นปกติอยู่แล้ว พอเราเสนอว่าควรให้นำเครื่องมือการผลิตมาใช้ร่วมกัน ชนชั้นนายทุนจึงคิดว่าสตรีก็จะต้องประสบชะตากรรมอย่างเดียวกันด้วย และกลัวว่าเราจะทำลายฐานะเดิมของสตรีที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือการผลิตของเขา

สิ่งที่น่ารังเกียจ ก็คือ พวกนายทุนทำตัวเป็นคนมือถือสากปากถือศีล แสดงความตกอกตกใจในสิ่งที่เรียกว่าระบอบเอาเมียเป็นของกลางโดยเปิดเผยเป็นทางการของชาวพรรคคอมมิวนิสต์ ที่จริงเรื่องการนำเมียเป็นของกลางนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่แล้วเพียงแต่ไม่เปิดเผยกัน

ความจริงพวกนายทุนไม่พอใจแค่การเอาเมียและลูกสาวของชนชั้นกรรมาชีพในควบคุมกลับไปเป็นของกรรมาชีพต่างหาก ขณะที่นายทุนซื้อขายสตรีในรูปของโสเภณีซึ่งเป็นของกลางอยู่แล้ว พวกนายทุนยังลักลอบเป็นชู้กับเมียของกันและกันอีกด้วย

การแต่งงานของชนชั้นนายทุนนั้นในทางเป็นจริงแล้วเป็นระบบที่เอาผู้หญิงเป็นของกลาง เพราะชีวิตการแต่งงานในระบบนี้ไม่เคยมีความมั่นคง การแต่งงานกลายเป็นสัญลักษณ์ของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ ซึ่งขึ้นกับอำนาจการซื้อของนายทุน แต่ชาวพรรคคอมมิวนิสต์อย่างมากก็แค่ถูกคนอื่นตำหนิว่าคิดจะใช้ระบอบเอาเมียเป็นของกลางอย่างเปิดเผยเป็นทางการมาใช้แทนระบอบเอาเมียมาเป็นของกลางแบบปิดลับ ไม่ต้องพูดก็รู้ ๆ กันอยู่แล้วว่าถ้าความสัมพันธ์ทางการผลิตในปัจจุบันถูกทำลายลง ระบอบเอาเมียเป็นของกลางแบบการค้าประเวณีอย่างเปิดเผยและไม่เปิดเผยของนายทุนก็จะถูกยกเลิกไปด้วย

ชาวพรรคคอมมิวนิสต์จะยกเลิกปิตุภูมิและความเป็นชาติ

อันที่จริงชนชั้นกรรมาชีพไม่มีปิติภูมิอยู่แล้ว ในเมื่อไม่มีชาติอยู่แล้วคอมมิวนิสต์จะยกเลิกสิ่งที่มันไม่มีอยู่แล้วได้อย่างไร

ก่อนอื่นชนชั้นกรรมาชีพจะต้องยึดอำนาจรัฐเพื่อปกครองประชาชาติ ในระยะสั้นยังมีความเป็นชาติอยู่ แต่คำว่าชาติในที่นี้ต่างกับความเข้าใจของชนชั้นนายทุน

เนื่องจากการพัฒนาของทุน การค้าเสรีและการสร้างตลาดโลกขึ้น การรวมศูนย์การผลิตทางอุตสาหกรรม และสภาพสังคมทุนนิยมที่พัฒนามาควบคู่กันทั้งโลกนั้น ทำให้ความขัดแย้งระหว่างประชาชนประเทศต่างๆ เริ่มลดน้อยลง

ถ้าชนชั้นกรรมาชีพได้ปกครองรัฐจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างชาติลดน้อยลง เพราะความร่วมมือกันของชนชั้นกรรมาชีพในประเทศต่างๆ ทั่วโลก แน่นอนว่าจะเป็นเงื่อนไขอันดับแรในการปลดแอกชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก

เมื่อการขูดรีดระหว่างคนกับคนได้ถูกทำลายไปแล้ว การขูดรีดระหว่างรัฐชาติกับรัฐชาติก็จะถูกทำลายไปด้วย

เมื่อความขัดแย้งทางชนชั้นภายในประเทศสูญสิ้นไปแล้ว ความขัดแย้งระหว่างประเทศก็จะสูญสิ้นไปด้วย

ทัศนะชาวพรรคคอมมิวนิสต์ในด้านปรัชญา

การกล่าวหาต่างๆ นานาต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งมาจากทัศนะทางศาสนา ปรัชญา และรูปการ ลัทธิทั่วไปนั้นเราไม่จำเป็นต้องสนใจรายละเอียดไปทุกเรื่อง

ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่า ความคิด ทัศนะ และ จินตภาพ ความรู้สึกนึกคิดของคนเรานั้น เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขชีวิตความเป็นอยู่ เปลี่ยนตามความสัมพันธ์ทางสังคมและการพัฒนาแต่ละยุคสมัยของคนเรา อันนี้ทุกคนเข้าใจได้ไม่ยาก

ประวัติศาสตร์ของความคิดนอกจากพิสูจน์ว่าการผลิตด้านจิตใจเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของการผลิตด้านวัตถุแล้วยังพิสูจน์ได้อีกว่า ความคิดที่ครอบงำสังคมไม่ว่าจะยุคใดก็ตามย่อมเป็นความคิดของชนชั้นปกครองเสมอ

เมื่อมีผู้คนกล่าวถึงความคิดที่จะทำให้ทั้งสังคมเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับการปฏิวัตินั้น พวกที่อธิบายข้อเท็จจริงว่าภายในสังคมเก่า เริ่มมีลักษณะบางอย่างของสังคมใหม่ก่อรูปขึ้นแล้ว การสลายตัวของความคิดเก่านั้น เกิดขึ้นพร้อมๆกับการสลายตัวของสภาพความเป็นอยู่ทางวัตถุแบบเก่าด้วย

ขณะที่โลกสมัยโบราณกำลังจะล่มสลายไปนั้น ศาสนาต่างๆ ในสมัยโบราณอย่างการบูชาภูตผีปีศาจก็ถูกเอาชนะโดยศาสนาคริสต์ ต่อมาความคิดของศานาคริสต์ก็ถูกเอาชนะโดยความคิดที่ใช้เหตุผล ในศตวรรษที่ ๑๘ ช่วงที่ชนชั้นนายทุนก้าวหน้า กำลังต่อสู้กับสังคมชนชั้นขุนนางอย่างรุนแรง ในเวลานั้นความคิดเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา และเสรีภาพในความเชื่อยังมีการต่อสู้ทางความคิดกันอยู่ แสดงให้เห็นว่าสมัยนั้นแนวคิดเรื่องการค้าเสรียังถูกครอบงำ และไม่ได้รับการยอมรับ

“ ไม่น่าแปลกใจ” ถ้าจะมีผู้กล่าวว่า “ความคิดทางศาสนา ทางศีลธรรม ทางปรัชญา ทางการเมือง ทางกฎหมาย และความคิดอื่นๆนั้น เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในการพัฒนาของประวัติศาสตร์” แต่เอาเข้าจริง ชนชั้นนายทุนกลับบอกว่า ศาสนา ศีลธรรม ปรัชญา การเมืองและกฎหมายนั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะเป็นสัจธรรม

“ นอกจากนี้ ยังมีสัจธรรมชั่วนิรันดร์ เช่น เสรีภาพ ความเป็นธรรม ฯลฯ ดำรงอยู่ สัจธรรมเหล่านี้มีอยู่ในทุกๆ ขั้นตอนแห่งการพัฒนาของสังคม แต่ลัทธิคอมมิวนิสต์จะไม่พยายามแก้ไขความคิดเหล่านี้ แต่เราต้องการจะเลิกล้มสัจธรรมชั่วนิรันดร์ ลัทธิคอมมิวนิสต์จะเลิกล้มศาสนา ศีลธรรม (ของนายทุน) ฉะนั้นลัทธิคอมมิวนิสต์จึงขัดแย้งกับวิถีดำเนินแห่งการพัฒนาของประวัติศาสตร์ทั้งหมดที่ผ่านมา ”

ข้อความข้างต้นเป็นการกล่าวหาที่ไร้ความหมาย ถ้าเราเข้าใจว่าประวัติศาสตร์ของสังคม ทั้งหมดตราบเท่าทุกวันนี้ล้วนเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางชนชั้น ซึ่งมีรูปแบบแตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย

ทุกความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเรื่องใด เราต้องยอมรับความจริงว่าสิ่งที่เหมือนกันในทุกยุคสมัยคือการขูดรีดที่คนส่วนหนึ่งในสังคมกระทำต่อคนอีกส่วนหนึ่ง แม้ว่าความรู้สึกนึกคิดของสังคมในแต่ละยุคจะต่างกัน ดังนั้นรูปแบบความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้จะหมดไปอย่างสิ้นเชิงก็ต่อเมื่อความขัดแย้งทางชนชั้นหมดไปแล้ว

การปฏิวัติแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ ก็คือ ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงในเรื่องความสัมพันธ์ของระบอบกรรมสิทธิ์ที่เป็นประเพณีสืบทอดกันมา รวมถึงความคิดเก่า ๆ ทั้งหลายด้วย

ดังนั้นจึงไม่ต้องใส่ใจกับข้อกล่าวหาต่าง ๆ ของชนชั้นนายทุน

การปฏิวัติยึดอำนาจการปกครอง

จากที่ยกตัวอย่างมาเราได้มองเห็นแล้วว่า ก้าวแรกแห่งการปฏิวัติของชนชั้นกรรมกาชีพ ก็คือ ทำให้ชนชั้นกรรมาชีพก้าวขึ้นไปเป็นชนชั้นปกครองโดยช่วงชิงมาซึ่งประชาธิปไตย

ชนชั้นกรรมาชีพจะใช้ประโยชน์จากการปกครองทางการเมืองของตน เพื่อไปยึดทุนทั้งหมดจากชนชั้นนายทุนทีละขั้นๆ รวมศูนย์เครื่องมือการผลิตทั้งหมดไว้ในมือของรัฐ ซึ่งก็คือ ไว้ในมือของชนชั้นกรรมาชีพที่จัดตั้งขึ้นเป็นชนชั้นปกครองแล้ว และเพิ่มยอดปริมาณพลังการผลิตให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้

การที่จะทำได้ถึงขั้นนี้ แน่นอนก่อนอื่นจะต้องดำเนินนโยบายแทรกแซงบังคับแย่งชิงการถือกรรมสิทธิ์ และความสัมพันธ์ทางการผลิตของชนชั้นนายทุนมาเป็นของชนชั้นกรรมาชีพ รวมทั้งใช้มาตรการบางอย่างแม้ไม่สมบูรณ์แต่ก็เป็นจำเป็นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงแบบวิธีการผลิตทั้งหมด

แน่นอนมาตรการเหล่านี้ย่อมแตกต่างกันไปในประเทศต่างๆ แต่ในประเทศที่ก้าวหน้าที่สุด อาจใช้มาตรการต่อไปนี้ได้เกือบทุกข้อ

๑. เลิกล้มกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอาค่าเช่าที่ดินไปใช้เป็นรายจ่ายของรัฐ

๒. เรียกเก็บภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้า ที่เพิ่มตามจำนวนรายได้

๓. ยกเลิกสิทธิในการสืบมรดก

๔. ริบทรัพย์สินของพวกนายทุนที่หลบหนีไปต่างประเทศและพวกกบฎทั้งปวง

๕. รวมศูนย์สินเชื่อไว้ในมือของรัฐ โดยผ่านธนาคารแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้กุมทุนของรัฐ

และมีสิทธิ์ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว

๖. รวมศูนย์กิจการคมนาคมขนส่งทั้งหมดไว้ในมือของรัฐ

๗. เพิ่มโรงงานและเครื่องมือการผลิตที่เป็นของรัฐ บุกเบิกที่รกร้าง

และปรับปรุงเนื้อดินตามโครงการทั่วไป

๘. ดำเนินระบอบใช้แรงงานตามหน้าที่โดยทั่วหน้า ทุกคนต้องมีงานทำ

ขยายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกรรม

๙. ประสานเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน ทำให้ความแตกต่างระหว่างเมือง

กับชนบทหมดไปทีละขั้นโดยวิธีกระจายพลเมืองให้เท่า ๆ กันยิ่งขึ้นในทั่วประเทศ

๑๐. ให้เด็กๆทุกคนได้รับการศึกษาในโรงเรียนสาธารณะ โดยไม่เสียค่าเล่าเรียน ให้เด็ก

ได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติฯลฯ และ ยกเลิกการใช้เด็กทำงานตามโรงงานใน

รูปแบบที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

ในระยะนี้เมื่อความแตกต่างทางชนชั้นหมดไป และการผลิตทั้งหมดรวมศูนย์อยู่ในมือของคนส่วนใหญ่แล้ว อำนาจทางการเมืองก็จะหายไปด้วย อำนาจการเมืองในที่นี้คือ ความรุนแรงที่มีการจัดตั้งซึ่งชนชั้นหนึ่งใช้กดขี่อีกชนชั้นหนึ่ง ในการต่อสู้กับชนชั้นนายทุนนั้น ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องรวมกันเข้าเป็นชนชั้น ถ้าชนชั้นกรรมาชีพกลายเป็นชนชั้นปกครองโดยผ่านการปฏิวัติ และใช้อำนาจไปทำลายความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบเก่าแล้ว การทำลายความสัมพันธ์ทางการผลิตดังกล่าว ก็คือการทำลายเงื่อนไขการดำรงอยู่ของชนชั้น ดังนั้นชนชั้นก็จะหมดไป และจากนี้ก็จะไปสู่การทำลายการปกครองของชนชั้นนี้เองด้วย

สิ่งที่จะมาแทนที่สังคมเก่าของชนชั้นนายทุนที่เป็นสังคมชนชั้นที่เคยมีความขัดแย้งทางชนชั้นดำรงอยู่นั้น ก็คือ สังคมที่ยึดหลักการที่ว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตแต่ละด้านอย่างเสรีของแต่ละคน เป็นเงื่อนไขแห่งการพัฒนาอย่างเสรีของคนทุกคนในสังคม

ชาวพรรคคอมิวนิสต์ไม่ต้องปกปิดอำพรางทรรศนะและจุดมุ่งหมายของตน พวกเราประกาศอย่างเปิดเผยว่าจุดมุ่งหมายของเราคือการปฎิวัติโค่นล้มระบอบสังคมที่ดำรงอยู่ให้หมดสิ้นไปเท่านั้น ปล่อยให้ชนชั้นปกครองตัวสั่นอยู่เบื้องหน้าการปฎิวัติลัทธิคอมมิวนิสต์ไปเถิด ในการปฎิวัตินี้ชนชั้นกรรมาชีพจะไม่สูญเสียอะไรนอกจากโซ่ตรวนเท่านั้น สิ่งที่เราจะได้มาคือโลกทั้งโลก

กรรมาชีพทั่วโลกจงสามัคคีกัน !